วัดนี้เดิมทีเป็นภูเขาลูกเล็กๆซึ่งไม่สูงมากนัก เป็นภูเขาหินลูกรังมีต้นไม้นานาชนิด ตั้งอยู่ที่ตำบลวังสารภี ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี ไปตามถนนสายกาญจนบุรี – อู่ทอง ประมาณ ๒ กิโลเมตร ในระยะเริ่มแรกที่มีการตัดถนนทางหลวงแผ่นดินสายกาญจนบุรี-อู่ทอง กรมทางหลวงแผ่นดินได้มีการสงวนภูเขาลูกนี้ไว้เพื่อใช้หินลูกรังในการก่อสร้างทางถนน เมื่อทางหลวงแผ่นดินก่อสร้างทางถนนสายกาญจนบุรี-อู่ทอง เสร็จเรียบร้อยแล้ว กรมทางหลวงแผ่นดินได้ทิ้งภูเขาลูกนี้ไว้เฉยๆเป็นเวลายาวนานมาก จนกระทั่งชาวหมู่บ้านตำบลวังสารภีเข้าใจว่ากรมทางหลวงแผ่นดินคงจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรจากภูเขาลูกนี้แล้ว ชาวบ้านวังสารภีจึงได้ดำริคิดที่จะสร้างวัดขึ้นมา เพราะเห็นพ้องต้องกันว่าในละแวกบ้านวังสารภี (ต่อมาขยายออกเป็นบ้านห้วยน้ำใส,บ้านเขาตอง) ยังไม่มีวัดไม่มีพระที่จะให้ชาวบ้านบูชาสักการะทำบุญ ซึ่งวัดต่างๆก็อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านวังสารภีมากการเดินทางไปทำบุญไปถืออุโบสถศีลก็ไม่สะดวกนัก บางครั้งไปก็ไม่ทันเวลาใส่บาตรทำบุญ ในการที่จะสร้างวัดขึ้นที่เขาน้อยนี้น่าจะเหมาะและอยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียงแค่ ๒๐๐ เมตรเท่านั้น ดังนั้นชาวบ้านในตำบลวังสารภีจึงได้ร่วมกันปรึกษาหารือกับนายจำรัส แพ่งบรรเทา ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านของตำบลนี้ เมื่อชาวบ้านในตำบลวังสารภีซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ ๒๐๐ กว่าหลังคาเรือน เห็นว่าเป็นการดีแล้ว ผู้ใหญ่จำรัส แพ่งบรรเทา จึงได้นำเรื่องราวนี้ไปปรึกษากับคุณน้ำแท้ แต้มทอง และ คุณนายมาลี เสตะพันธ์ เพื่อให้ช่วยอนุเคราะห์ในการก่อตั้งสร้างวัดขึ้น เมื่อคุยปรึกษาหารือกันเรียบร้อยแล้วทั้ง ๓ ท่านก็ได้เดินทางมาดูที่ดินที่ภูเขาน้อยนี้ ครั้นเมื่อคุณน้ำแท้ แต้มทอง และ คุณนายมาลี เสตะพันธ์ ได้มาเห็นพื้นที่บริเวณภูเขาลูกนี้แล้ว ได้เกิดความยินดีพอใจเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าเหมาะสมที่จะสร้างอรัญญวาสี เป็นวัดในป่าเพื่อที่จะใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ครั้นเมื่อถึงวันที่ - เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งเป็นศุภนิมิตรหมายอันดี คุณน้ำแท้ แต้มทอง และ คุณนายมาลี เสตะพันธ์, นายตราทอง มุสิกบุตร, นายวันดี (ไม่ทราบนามสกุล), นายประเมธ (ไม่ทราบนามสกุล),นายพิศาล (ไม่ทราบนามสกุล) นายเล้ง เฮงชวเดชาศิลป์ พร้อมด้วยชาวบ้านตลาดเมืองกาญจนบุรี ได้ร่วมกันกับ นายทั่ง เรียบร้อย, นายโถ นุ่มวัฒนะ, นายเย็น ยิ่งภิญโญ, นายติ่ง ยิ่งภิญโญ, นายเกลา นางทองมี ด้วงปลี, นายเปลื้อง แพ่งบรรเทา, นายพลู ยิ่งภิญโญ, นายสำอางค์ ร่มโพธิ์เย็น, นายโปรย นางเยื้อน เงินเหรียญ, นายประดิษฐ์ ผาสุก, นายเต็ง, นายหลุ่น,นางจิบ และชาวบ้านวังสารภีอีกหลายท่าน ภายใต้การนำของผู้ใหญ่จำรัส แพ่งบรรเทา จึงได้ร่วมทำการปลูกตั้งศาลเพียงตาขึ้นและทำบุญเลี้ยงพระที่ภูเขาลูกนี้ โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ๕ รูป เสร็จแล้วร่วมช่วยกันปลูกสร้างกุฏิขึ้นมา ๑ หลังซึ่งเป็นหลังแรกบนภูเขาน้อยลูกนี้ เมื่อการก่อสร้างกุฏิเริ่มขึ้นแล้วก็เกิดปัญหาว่าจะได้พระภิกษุที่ไหนมาอยู่จำพรรษา คุณน้ำแท้ แต้มทอง, คุณนายมาลี เสตะพันธ์, คุณกมล สมประสงค์, คุณอรุณ สาระสาริน ได้ร่วมทำการปรึกษากัน โดยคุณน้ำแท้ แต้มทอง ได้ให้ข้อคิดว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะสมที่จะให้เป็นที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน และพระภิกษุที่จะนิมนต์มาจำพรรษาอยู่ที่นี่ควรจะมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นอย่างดียิ่ง ทั้งสี่ท่านจึงได้ปรึกษากันแล้วตกลงเห็นพ้องต้องกันว่าที่วัดพืชอุดม จังหวัดปทุมธานี เป็นสถานที่ที่ขึ้นชื่อทางด้านการปฏิบัติวิปัสสนาแห่งหนึ่ง คุณน้ำแท้ แต้มทอง, คุณกมล สมประสงค์, คุณอรุณ สาระสาริน จึงได้ร่วมกันเดินทางไปวัดพืชอุดม จังหวัดปทุมธานี และได้เข้าพบ ท่านพระครูอุดมภาวนาภิรัตน์ (ไสว ยอดเพ็ชร) เจ้าอาวาสวัดพืชอุดม และได้ปรึกษากับท่านพระครูถึงเรื่องที่จะนิมนต์ท่านพระครูให้มาจำพรรษาอยู่ที่เขาน้อยแห่งนี้ หรือท่านจะให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ท่านเห็นว่าเหมาะสมที่จะสอนพระอภิธรรมและสอน วิปัสสนากัมมัฏฐานให้แก่ชาวบ้านได้ ให้มาอยู่จำพรรษาที่เขาน้อย แล้วได้บอกเล่าถึงสถานที่ของเขาน้อยให้ท่านพระครูไสวฟังและได้นิมนต์ชวนให้มาดูสถานที่ ครั้นแล้วคุณน้ำแท้ แต้มทอง, คุณกมล สมประสงค์, คุณอรุณ สาระสาริน ก็ได้พาพระครูอุดมภาวนาภิรัตน์ พร้อมด้วยพระภิกษุมงคล ทีปธัมโม (มงคล นพวงศ์) มาดูสถานที่แล้วก็กลับไป ต่อมาในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ท่านพระครูอุดมภาวนาภิรัตน์ พระภิกษุมงคล ทีปธัมโม พระภิกษุสง่า กวิญโญ พร้อมด้วยญาติโยมก็ได้เดินทางกันมาดูสถานที่อีกครั้งหนึ่งแล้วก็กลับไป ภายหลังจากที่กุฏิหลังแรกซึ่งสำเร็จพออยู่ได้แต่ยังไม่ถือว่าเรียบร้อยดีด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านวังสารภี พอถึงวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันที่ใกล้จะเข้าพรรษา ชาวบ้านต้องการที่จะให้มีพระจำพรรษาในปีนี้เลย เพราะเห็นว่ากุฏิก็พอที่จะให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาได้แล้ว ดังนั้นคุณน้ำแท้ แต้มทอง, คุณกมล สมประสงค์, คุณอรุณ สาระสาริน จึงได้เดินทางไปวัดพืชอุดม ปทุมธานี อีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะนิมนต์ให้พระมาอยู่จำพรรษา ทั้งสามท่านจึงได้เข้าพบกับท่านพระครูและทำการนิมนต์ ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ ท่านพระครูอุดมภาวนาภิรัตน์ พร้อมด้วยพระภิกษุมงคล ทีปธัมโม (มงคล นพวงศ์) พระภิกษุต่วน ฐิตญาโณ พระภิกษุนิ่ม ถาวโร พระภิกษุวงศ์ เกสโร พระภิกษุประชุม ปิยสีโล ได้เดินทางลงมาที่จังหวัดกาญจนบุรีพร้อมด้วยคุณน้ำแท้ แต้มทอง, คุณกมล สมประสงค์, คุณอรุณ สาระสาริน เมื่อได้เข้าสู่เขตเมืองกาญจนบุรี ได้เกิดศุภนิมิตหมายอันดี ได้เกิดฝนตกลงมาหนักมากซึ่งฝนไม่เคยตกลงมาหนักมากถึงขนาดนี้จนไม่สามารถที่จะเดินทางเข้ามาที่เขาน้อยได้ คุณน้ำแท้ แต้มทอง จึงได้นิมนต์พระทั้งหมดเข้าไปจำวัดที่บ้านในตลาดก่อน ๑ คืน
รุ่งขึ้น วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันทำบุญเข้าพรรษาวันแรก ท่านพระครูได้เดินทางกลับวัดพืชอุดม ทางด้านเขาน้อยนี้ได้จัดมอบหน้าที่ให้พระภิกษุมงคล ทีปธัมโม เป็นหัวหน้าคอยดูแลพระอีก ๔ รูปที่ติดตามมา ให้อยู่จำพรรษาที่เขาน้อย
ที่เขาน้อยแห่งนี้ จึงได้เริ่มตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ครั้งแรก ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๐ มีพระภิกษุจำพรรษาแรกเพียง ๕ รูป คือ
พระภิกษุมงคล ทีปธัมโม (มงคล นพวงศ์) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันนี้
พระภิกษุต่วน ฐิตญาโณ
พระภิกษุนิ่ม ถาวโร
พระภิกษุวงศ์ เกสโร
พระภิกษุประชุม ปิยสีโล
ในระหว่างที่สำนักแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นมาเป็นพรรษาแรกมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา ๕ รูป ก็ได้เปิดทำการสอนพระอภิธรรม โดยมีพระภิกษุมงคล ทีปธัมโม เป็นอาจารย์ผู้สอนและได้มีชาวบ้านในละแวกวังสารภี และในอำเภอเมืองกาญจนบุรีมาเรียนกันอย่างมากมาย และมีการสอนปฏิบัติในวิปัสสนากัมมัฏฐานเรื่อยมาจนถึงวันนี้ซึ่งเป็นระยะเวลา ๕๐ ปีแล้วสำนักสงฆ์แห่งนี้ยังไม่มีชื่อเรียกกัน นอกจากชาวบ้านจะเรียกกันเองว่า วัดเขาน้อย แต่ต่อมาได้ตั้งชื่อว่า สำนักสงฆ์อุดมมงคลภาวนาราม (โดยได้ใช้ชื่อของท่านพระครูอุดมภาวนาภิรัตน์ หรือพระครูไสว วัดพืชอุดม และชื่อของพระภิกษุมงคล นพวงศ์ ทั้ง ๒ รวมกัน จึงชื่อว่า วัดอุดมมงคลภาวนาราม) ต่อมาตัดคำว่าภาวนารามออก จึงเหลือเพียงคำว่า วัดอุดมมงคล แต่ด้วยที่ชาวบ้านติดและคุ้นเคยกับชื่อเขาน้อย จึงมักเรียกกันติดปากว่า วัดเขาน้อย ก็เลยต้องมีคำว่า (เขาน้อย) อยู่หลัง คำว่าวัดอุดมมงคล จึงเป็นคำว่า วัดอุดมมงคล (เขาน้อย) มาจนทุกวันนี้